
เทรนด์ตลาด: ข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเอเชียแปซิฟิก
การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนเมื่อไม่นานมานี้ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับการฟื้นตัวของเอเชียแปซิฟิกมากขึ้นไปอีก และแม้ว่าอนาคตของการเดินทางจะยังคงสดใส แต่กลยุทธ์การเปิดประเทศอีกครั้งก็มีความแตกต่างกันอย่างมากทั่วภูมิภาคและได้ชะลอตัวลงเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน
“สิ่งหนึ่งที่ท้าทายที่สุดที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือความไม่แน่นอนว่าประเทศต่าง ๆ จะรับมือกับเชื้อ COVID สายพันธุ์ปัจจุบันและสายพันธุ์ในอนาคตอย่างไร” Laura Houldswoth ซึ่งเป็น VP และ Managing Director of APAC ของ Booking.com กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าแผนรับมือซึ่งไม่มีความแน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของรัฐบาลส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้เดินทางลดลง “ผู้คนต่างก็อยากออกเดินทางกันอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็กลัวว่าจะมีการปิดพรมแดนระหว่างที่ตนเดินทางอยู่นอกประเทศบ้านเกิด”
อย่างไรก็ตาม การเร่งกระจายวัคซีนทั่วเอเชียแปซิฟิกก็ช่วยเสริมสร้างความหวังให้กับภูมิภาค โดยอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงนั้นส่งผลให้เราเริ่มเห็นว่ามีการใช้ Travel Bubble ทั้งระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาค ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญสู่การฟื้นฟูการท่องเที่ยวขาเข้าจากต่างประเทศ เราคาดว่าการฟื้นตัวนี้จะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเมื่อคำแนะนำเกี่ยวกับโอมิครอนมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
“ขณะนี้หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 80% ขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราการฉีดวัคซีนที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ” Nuno Guerreiro ซึ่งเป็น Regional Director ของ Booking.com กล่าว “การประกาศใช้ Travel Bubble ซึ่งมีให้เห็นเป็นจำนวนมากเมื่อเร็ว ๆ นี้นับเป็นเครื่องบ่งชี้อีกอย่างที่ช่วยสร้างความหวังว่ารัฐบาลในภูมิภาคนี้รู้สึกพร้อมมากขึ้นและสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์ปลอดภัยให้เดินทางได้อีกครั้ง”
Travel Bubble จุดประกายความเชื่อมั่น
Travel Bubble ระหว่างประเทศซึ่งอนุญาตให้มีการเดินทางโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องกักตัวนั้นเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ โดยมีการเปิดตัว Vaccinated Travel Lane กับเยอรมนีและบรูไนในเดือนกันยายนเมื่อปีที่แล้ว นับตั้งแต่นั้นมา แผนดังกล่าวได้ขยายขอบเขตไปยังตลาดขาเข้าสำคัญ ๆ หลายแห่ง ซึ่งรวมถึงแคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในสหภาพยุโรป
“หลังจากที่มีการประกาศใช้ Travel Lane เพิ่มเติมระหว่างสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เราก็เริ่มเห็นว่ามีการค้นหาจำนวนมากขึ้นอันเป็นผลมาจากโอกาสดังกล่าว” Laura กล่าว “เช่นเดียวกัน ตอนที่ออสเตรเลียเปิดให้เดินทางระหว่างรัฐได้อีกเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน เราก็เห็นสิ่งเดียวกันนี้ในการค้นหาระหว่างรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมากว่าแม้สถานการณ์จะผันผวนเพราะการแพร่ระบาด แต่ในระยะยาวนั้นผู้คนจะยังคงค้นหาจุดหมายที่ปลอดภัยและเปิดให้เดินทางได้ต่อไป”
สำหรับเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก Travel Bubble เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การฟื้นตัว ตัวอย่างเช่น เมื่อปลายปีที่แล้วหมู่เกาะฟิจิเปิดพรมแดนรับผู้เดินทางจากบางประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอันเป็นสิ่งที่ธุรกิจในท้องถิ่นเฝ้ารอมานาน “ในที่สุดหมู่เกาะฟิจิก็เริ่มเห็นผู้คนจากออสเตรเลียเดินทางมาพักผ่อนช่วงวันหยุดยาวสุดสัปดาห์” Jesper Palmqvist ซึ่งเป็น Area Director of Asia Pacific ของ STR กล่าว “ในช่วงวันเสาร์แรก ๆ ของเดือนธันวาคม อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจนอยู่ที่ 60% เมื่อเทียบกับแค่ 30% ในเดือนก่อนหน้าและแทบร้างผู้คนช่วงสุดสัปดาห์ในช่วงก่อนหน้านั้น”
เพื่อรุกเจาะดีมานด์จากต่างประเทศ Laura จาก Booking.com แนะนำให้ตั้งราคาเฉพาะประเทศสำหรับตลาดที่มีการใช้ Travel Bubble แม้ว่าจุดหมายซึ่งที่พักของท่านตั้งอยู่จะมีดีมานด์ในประเทศสูง แต่การเสนอราคาที่แข่งขันได้ก็ช่วยให้ท่านสามารถมีอันดับที่ดีขึ้นในผลการค้นหาบนเว็บของเรา ซึ่งจะทำให้ท่านโดดเด่นเหนือคู่แข่ง หากที่พักคู่ค้าต้องการทราบว่าควรให้ความสำคัญกับตลาดไหนเป็นอันดับต้น ๆ ก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเทรนด์การค้นหาที่มีให้ในเอกซ์ทราเน็ต
แสงแดดและแซนด์บ็อกซ์
ขณะนี้บน Booking.com เราพบการเข้าพักระยะยาวในตลาดรีสอร์ท โดยมีผู้เดินทางที่มาจากที่ไกล ๆ ซึ่งมองหาโอกาสที่จะได้เพลิดเพลินกับช่วงฤดูร้อนที่เหลืออยู่ในซีกโลกใต้
สิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนดีมานด์ดังกล่าวก็คือโมเดล “แซนด์บ็อกซ์ด้านการเดินทาง” ซึ่งอนุญาตให้ผู้เดินทางต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้วบินตรงไปยังจุดหมายบางแห่ง เช่น ภูเก็ตในประเทศไทย ฟู้โกว๊กในประเทศเวียดนาม และลังกาวีในประเทศมาเลเซีย โดยที่ไม่ต้องกักตัว อย่างไรก็ดีผู้เดินทางก็ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์บางประการ เช่น การตรวจแบบ PCR เมื่อเดินทางมาถึง และการจองโรงแรมที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้าตามจำนวนวันที่กำหนด
“ตอนที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม อัตราการเข้าพักบนเกาะเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 20-25%” Jesper จาก STR กล่าว หลังจากความสำเร็จในครั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 แห่งประเทศไทย (CCSA) ได้อนุมัติให้เปิดใช้โมเดลแซนด์บ็อกซ์ด้านการเดินทางอีกครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า
การเดินทางในประเทศยังคงขับเคลื่อนดีมานด์ต่อไป
นอกเหนือจากการกลับมาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวที่อยู่ไกลซึ่งเดินทางมาได้แล้ว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเห็นดีมานด์สำหรับการเข้าพักระยะสั้นภายในประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นเทรนด์ที่คาดว่าน่าจะมีให้เห็นต่อไปในปีใหม่นี้ จากการสำรวจข้อมูลของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) คาดว่าการใช้จ่ายภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นกว่า 25% ในปี 2022 เมื่อเทียบปีต่อปี สำหรับประเทศซึ่งตลาดภายในประเทศมีความสำคัญ แนวทางนี้จะช่วยชดเชยแทนการเดินทางระหว่างประเทศได้ในระดับหนึ่ง
ในบางกรณี การใช้ข้อจำกัดด้านการเดินทางอีกครั้งส่งผลให้การเดินทางภายในประเทศเป็นตัวเลือกเดียวสำหรับประชาชน “ยังคงมีไม่กี่ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ที่ใช้แนวทางที่รอบคอบมากกว่าในการเปิดประเทศอีกครั้ง แม้อัตราการฉีดวัคซีนจะสูงมากก็ตาม” Nuno จาก Booking.com กล่าว “ประเทศเหล่านี้มุ่งเน้นที่การดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวขึ้น ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้คนโดยรวมเป็นอันดับต้น ๆ ก่อนที่จะเปิดรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ในอนาคต ผมคาดว่าเราจะยังคงเห็นความแตกต่างทั่วภูมิภาคอยู่ แต่ก็หวังว่าแม้แต่ประเทศที่ระมัดระวังมากกว่าเล็กน้อยก็จะเริ่มเปิดประเทศและรับมือกับ COVID ในลักษณะเฉพาะตัวสำหรับแต่ละพื้นที่มากขึ้น”
แม้กระทั่งตลาดซึ่งในอดีตเคยเป็นจุดหมายยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว เช่น บาหลีในประเทศอินโดนีเซีย ก็ยังเห็นดีมานด์ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเนื่องจากการปิดประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน “เราเห็นคนอินโดนีเซียเดินทางไปบาหลีมากกว่าที่เคยอย่างมาก” Jesper กล่าว “อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในช่วงสุดสัปดาห์เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้จนถึงเดือนกันยายน 2021 ซึ่งมีอัตราอยู่ที่เลขหลักเดียว และอัตราที่เพิ่มขึ้นนี้ก็มาจากผู้เดินทางภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างบาหลี”
ความตั้งใจที่จะออกเดินทางยังคงไม่สั่นคลอน
เครื่องบ่งชี้อีกอย่างที่ช่วยสร้างความหวังสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็คือความตั้งใจที่จะออกเดินทางของลูกค้า ซึ่งแรงกล้ายิ่งกว่าที่เคย “นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ก่อนหน้าที่จะมีข่าวการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ภูมิภาคนี้โดยรวมมีดีมานด์การค้นหาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2019” Laura กล่าว นี่เป็นสัญญาณเชิงบวกที่ชี้ให้เห็นว่าในระยะยาวนั้น ที่พักคู่ค้าที่ตั้งอยู่ในเอเชียแปซิฟิกคาดได้ว่าจะเห็นการฟื้นตัวอันแข็งแกร่งซึ่งขับเคลื่อนโดยดีมานด์ที่ถูกกดไว้และยังไม่ได้รับการปลดปล่อย เมื่อสถานการณ์ปลอดภัยให้เดินทางได้อีกครั้ง
“ฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตของการเดินทางจะสดใส” Laura กล่าวสรุป “ภูมิภาคของเรามีองค์ประกอบทั้งหมดที่เหมาะสมสำหรับรับมือกับความท้าทายที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราในฐานะแวดวงเดียวกันยังคงรักษาความสามารถในการปรับตัวและร่วมมือร่วมใจกัน ความปรารถนาที่จะออกเดินทางยังคงแรงกล้าในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2022 และเราก็สามารถเตรียมพร้อมไปด้วยกันเพื่อฟื้นตัวและเพื่อประสบความสำเร็จในลักษณะที่ยั่งยืน”
- อัตราการฉีดวัคซีนที่สูงควบคู่กับ Travel Bubble คือสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความหวังให้กับเอเชียแปซิฟิก
- การฟื้นตัวของภูมิภาคยังคงไม่สอดคล้องกันและเปลี่ยนแปลงไปมา โดยมี COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มความซับซ้อนให้กับกลยุทธ์ในการเปิดประเทศอีกครั้ง
- ที่พักคู่ค้าสามารถคว้าดีมานด์จากต่างประเทศที่มีอยู่แล้วโดยดำเนินการเชิงรุกด้วยการตั้งราคาเฉพาะประเทศสำหรับตลาดที่ใช้ Travel Bubble ท่านสามารถดูข้อมูลเทรนด์การค้นหาและการจองที่ปรับให้เหมาะกับที่พักท่านได้ในเอกซ์ทราเน็ตเพื่อช่วยให้ท่านทราบว่าควรเจาะตลาดไหน
- แม้การเดินทางระหว่างประเทศจะมีวี่แววของการฟื้นตัว แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศก็ยังคงขับเคลื่อนดีมานด์ในภูมิภาคอย่างเนื่อง